วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2562

2. ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย

คำยืมภาษาต่างประเทศที่มีใช้ในภาษาไทย

         โดยธรรมชาติ ภาษาย่อมมีการเปลี่ยนแปลงและมีคำภาษาอื่นปะปน เพราะภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร สื่อความคิดของมนุษย์และเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งย่อมมีการถ่ายทอดหยิบยืมกันได้ ทำให้มีคำในภาษาใช้มากขึ้น สะดวกต่อการสื่อความหมายกัน ทั้งทำให้ภาษามีความเจริญงอกงามขึ้นอีกด้วย การเปลี่ยนแปลงของภาษาเกิดขึ้นได้ทุกด้านของภาษา ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงด้านเสียง การเปลี่ยนแปลงด้านศัพท์ และการเปลี่ยนแปลงด้านไวยากรณ์
การที่ภาษาไทยมีคำใหม่ ๆ เกิดขึ้นในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งยืมมาจากภาษาต่างประเทศ ด้วยสาเหตุต่าง ๆ อาทิ สภาพภูมิประเทศ การอพยพย้ายถิ่นฐาน การติดต่อค้าขาย การศึกษา ศาสนา วรรณคดี เป็นต้น

สาเหตุที่ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทย


การติดต่อสัมพันธ์กันทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย ด้วยสาเหตุหลายประการ พอสรุปได้ดังนี้

  • สภาพภูมิศาสตร์ คือ ประเทศไทยมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศต่าง ๆ ได้แก่ พม่า ลาว เขมร มาเลเซีย จึงทำให้คนไทยที่อยู่อาศัยบริเวณชายแดนเดินทางข้ามแดนไปมาหาสู่กันและมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน จึงมีการแลกเปลี่ยนภาษากัน เช่น คนไทยที่อยู่ในจังหวัดสุรินทร์ ศรีษะเกษ บุรีรัมย์ ก็จะสามารถสื่อสารด้วยภาษาเขมรได้ คนไทยที่อยู่ในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา รับเอาภาษามาลายูเข้ามาใช้ เป็นต้น
     
  • ประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยเป็นชนชาติที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน มีการอพยพโยกย้ายของคนไทยเข้ามาอยู่ในถิ่นอาศัยปัจจุบัน ซึ่งแต่เดิมมีชนชาติอื่นอาศัยอยู่ก่อน เช่น เขมร ละว้า มอญ หรือมีการทำศึกสงครามกับชนชาติอื่น มีการกวาดต้อนเชลยศึกและประชาชน พลเมืองชนชาติอื่น ๆ ให้มาอาศัยอยู่ในประเทศไทย ผู้คนเหล่านี้ได้นำถ้อยคำภาษาเดิมของตนเองมาใช้ปะปนกับภาษาไทยด้วย
     
  • ศาสนา คนไทยมีเสรีภาพในการนับถือศาสนามาเป็นเวลาช้านาน เมื่อนับถือศาสนาใดก็ย่อมได้รับถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสอน หรือคำเรียกชื่อต่าง ๆ ในทางศาสนาของศาสนานั้น ๆ มาปะปนอยู่ในภาษาไทยด้วย เช่น ศาสนาพราหมณ์ใช้ภาษาสันสกฤต ศาสนาพุทธใช้ภาษาบาลี ศาสนาอิสลามใช้ภาษาอาหรับ และศาสนาคริสต์ใช้ภาษาอังกฤษ ดังนั้นภาษาต่าง ๆ ที่ใช้ ในทางศาสนาก็จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วย
     
  • การค้าขาย จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ชนชาติไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับชนชาติต่าง ๆ มาเป็นเวลาอันยาวนาน เช่น ชาวจีน ชาวโปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา ตลอดถึงญี่ปุ่น ทำให้มีถ้อยคำในภาษาของชนชาตินั้น ๆ เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ตลอดเวลาไม่มีวันสิ้นสุด
     
  • วรรณคดี วรรณคดีอินเดียที่ไทยนำเข้ามา เช่น เรื่องมหากาพย์รามายณะ และ มหาภารตะ แต่งขึ้นเป็นภาษาสันสกฤต อิเหนา เป็นวรรณคดีที่มีเค้าเรื่องมาจากเรื่องดาหลังของชวา ด้วยเหตุนี้วรรณคดีทำให้ภาษาสันสกฤตและภาษาชวาเข้ามาปะปนในภาษาไทย
     
  • ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมและประเพณี เมื่อชนชาติต่าง ๆ เข้ามาสัมพันธ์ติดต่อกับชนชาติไทย หรือเข้ามาตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศไทย ย่อมนำเอาวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยยึดถือปฏิบัติอยู่ในสังคมเดิมของตนมาประพฤติปฏิบัติในสังคมไทย นาน ๆ เข้าถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมและประเพณีเหล่านั้น ก็กลายมาเป็นถ้อยคำภาษาที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทยมากขึ้น
     
  • การศึกษาและวิทยาการด้านต่าง ๆ จากการที่คนไทยเดินทางไปศึกษายังต่างประเทศ ทำให้ได้ใช้และพูดภาษาอื่น ๆ และรับเอาวิทยาการต่าง ๆ เมื่อสำเร็จการศึกษา จึงนำภาษาของประเทศนั้นมาใช้ปะปนกับภาษาของตน เช่น ภาษาอังกฤษ ในปัจจุบันประเทศไทยกำลังเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาเพื่อก้าวสู่ประชาคมอาเซียนและมาตรฐานสากล โดยการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ภาษาและวัฒนธรรมประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนและภาษาที่สามารถสื่อสารกันในสากลโลก ดังนั้นการหลั่งไหลของภาษาต่าง ๆ ที่จะเข้ามาปะปนในภาษาไทยก็จะเพิ่มมากขึ้น
     
  • ความสัมพันธ์ทางการทูต การเจริญสัมพันธไมตรีทางการทูต ในการอพยพ โยกย้ายหรือในการติดต่อทางการทูต ย่อมทำให้ภาษาของเจ้าของถิ่นเดิมหรือผู้อพยพโยกย้ายมาใหม่นำมาใช้ร่วมกัน เช่น อังกฤษ ฝรั่งเศส
     
  • อพยพย้ายถิ่นฐาน การอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากสาเหตุหลายประการ เช่น สภาพเศรษฐกิจต้องไปประกอบอาชีพยังประเทศต่าง ๆ ภัยสงคราม การเมืองการปกครอง 

คำภาษาไทยที่ยืมมาจากภาษาต่างประเทศ


จากสาเหตุข้างต้น ไทยได้ยืมคำภาษาต่าง ๆ เข้ามาใช้ปะปนในภาษาไทยหลายภาษาด้วยกัน ดังนี้

  • บาลี กัญญา ขัตติยะ วิชา สันติ อิตถี
  • สันสกฤต บริษัท โฆษณา ประกาศ ภรรยา แพทย์ 
ผลการค้นหารูปภาพสำหรับ ภาษาต่างประเทศในภาษาไทย
  • จีน ก๋วยเตี๋ยว ซาลาเปา เต้าฮวย บะหมี่ ลิ้นจี่
  • อังกฤษ กอล์ฟ โปรตีน คลินิก ฟอสฟอรัส นิวเคลี์ยร
  • เขมร กังวล ถนน บำเพ็ญ เผด็จ เสวย
  • ชวา-มลายู กริช กระดังงา ซ่าหริ่ม ปาหนัน อังกะลุง อุรังอุตัง
  • เปอร์เซีย กุหลาบ คาราวาน ตราชู บัดกรี สักหลาด
  • โปรตุเกส กะละแม กะละมัง สบู่ เลหลัง ปิ่นโต
  • ฝรั่งเศส กงสุล ครัวซองต์ คูปอง แชมเปญ บุฟเฟ่ต์
  • ญี่ปุ่น กิโมโน คาราเต้ ซูโม ยูโด สุกี้ยากี้
  • ทมิฬ กะไหล่ กุลี กานพลู กำมะหยี่ อาจาด
  • อาหรับ กะลาสี การบูร กั้นหยั่น กะไหล่ ฝิ่น
  • มอญ มะ เม้ย เปิงมาง พลาย ประเคน
  • พม่า หม่อง กะปิ ส่วย

ภาษาที่มีใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก คือ ภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน อังกฤษ โดยเฉพาะภาษาบาลี สันสกฤต เขมร จีน ไทยนำมาใช้และมีการเปลี่ยนแปลงรูปคำจนดูกลมกลืนกับภาษาไทยแทบจะจำแนกไม่ได้ว่าเป็นคำมาจากภาษาอื่น

อิทธิพลของภาษาต่างประเทศที่มีต่อภาษาไทย


ภาษาต่างปะเทศที่เข้ามาปะปนในภาษาไทยด้วยสาเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้น มีอิทธิพลต่อภาษาไทย คือ ทำให้ลักษณะของภาษาไทยเปลี่ยนไปจากเดิม ดังนี้

  • คำมีพยางค์มากขึ้น ภาษาไทยเป็นภาษาตระกูลคำโดด คำส่วนใหญ่เป็นคำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง เดิน ยืน นั่ง นอน เมือง เดือน ดาว ช้าง แมว ม้า ป่า น้ำ เป็นต้น เมื่อยืมคำภาษาอื่นมาใช้ ทำให้คำมีมากพยางค์ขึ้น เช่น
     
    - คำสองพยางค์ เช่น บิดา มารดา เชษฐา กนิษฐา ยาตรา ธานี จันทร กุญชร วิฬาร์ เป็นต้น
    - คำสามพยางค์ เช่นโทรเลข โทรศัพท์ พาหนะ จักรยาน ปรารถนา บริบูรณ์ เป็นต้น
    - คำมากกว่าสามพยางค์ เช่น กัลปาวสาน สาธารณะ อุทกภัย วินาศกรรม ประกาศนียบัตร เป็นต้น
     
  • มีคำควบกล้ำใช้มากขึ้น โดยธรรมชาติของภาษาไทยจะไม่มีคำควบกล้ำ เมื่อรับภาษาอื่นเข้ามาใช้เป็นเหตุให้มีคำควบกล้ำมากขึ้น เช่น บาตร ศาสตร์ ปราชญ์ พรหม ปราศรัย โปรด ปลูก ทรวง เกรด เคลียร์ เอ็นทรานซ์ ดรัมเมเยอร์ เป็นต้น
     
  • มีคำไวพจน์ใช้มากขึ้น (คำไวพจน์ คือ คำที่มีความหมายเหมือนกัน) ซึ่งสะดวกและสามารถเลือกใช้คำได้เหมาะสมตามความต้องการและวัตถุประสงค์ เช่น
    นก บุหรง ปักษา ปักษิน สกุณา วิหค
    ม้า พาชี อาชา สินธพ หัย อัศวะ
    ดอกไม้ กรรณิกา บุปผชาติ บุหงา ผกา สุมาลี
    ท้องฟ้า คคนานต์ ทิฆัมพร นภดล โพยม อัมพร
    น้ำ คงคา ชลาลัย ธารา มหรรณพ สาคร
    พระจันทร์ แข จันทร์ นิศากร บุหลัน รัชนีกร
  • มีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตรา คำไทยแท้ส่วนใหญ่มีตัวสะกดตรงตามมาตรา เมื่อได้รับอิทธิพลภาษาต่างประเทศ คำใหม่จึงมีตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราจำนวนมาก เช่น พิพาท โลหิต สังเขป มิจฉาชีพ นิเทศ ประมาณ ผจญ กัปตัน ปลาสเตอร์ คริสต์ เคเบิล ดีเซล โฟกัส เป็นต้น
     
  • ทำให้โครงสร้างของภาษาเปลี่ยนไป เช่น
    - ใช้คำ สำนวน หรือประโยคภาษาต่างประเทศ โดยเฉพาะภาษาอังกฤษ เช่น
     
    สำนวนภาษาต่างประเทศ เขาพบตัวเองอยู่ในห้อง
    สำนวนภาษาไทย เขาอยู่ในห้อง
    สำนวนภาษาต่างประเทศ นวนิยายเรื่องนี้เขียนโดยทมยันตี
    สำนวนภาษาไทย ทมยันตีเขียนนวนิยายเรื่องนี้
    สำนวนภาษาต่างประเทศ มันเป็นเวลาบ่ายเมื่อข้าพเจ้ามาถึงอยุธยา
    สำนวนภาษาไทย ข้าพเจ้ามาถึงอยุธยาเมื่อเวลาบ่าย

    - ใช้คำภาษาต่างประเทศปนกับภาษาไทย ทั้ง ๆ ที่บางคำมีคำภาษาไทยใช้ เช่น
    เธอไม่แคร์ ฉันไม่มายด์ เขาไม่เคลียร์ 

http://phasathai59.blogspot.com/2016/10/blog-post_77.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น